ปัจจุบันในการถือครองที่ดินนั้น เอกสารที่ทางราชการออกให้มีหลากหลายรูปแบบและหากพิจารณาร่วมกับการเสียภาษีที่ดินแล้วเรื่องที่ควรรู้จึงประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือเอกสารใดบ้างที่กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดินถือว่ามีความเป็น “ที่ดิน” และที่ดินประเภทใดบ้างที่ผู้ครอบครองต้องเสียภาษี วันนี้มีคำตอบมาฝากเริ่มจากการทำความเข้าใจกัน
ว่าที่ดินในความหมายของกรมที่ดีคืออะไรเสียก่อนจากนั้นค่อยศึกษาต่อว่ามีที่ดินประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี ไปติดตามพร้อม ๆ กันได้เลย
เอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้ที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน
“ที่ดิน” ในความหมายของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย นั้นหมายถึงสินทรัพย์ที่มีค่า มีราคา และมีประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างยิ่ง เช่น ใช้เป็นที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หลักประกัน และอื่นๆ ปัจจุบันเอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกให้มีทั้งหมด 5 ประเภทแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันโดยประเภท หนังสือแสดงสิทธิที่ดินที่ออกโดยกรมที่ดิน มี 5 ประเภท หรือสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากตราครุฑด้านบนเอกสาร ที่จะมีสีแตกต่างกันไป ดังนี้
- สค.1 ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะกรมที่ดินจะแจ้งให้ทำการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินทั้งหมด
- น.ส.2 หรือใบจองหมายถึงหนังสือแสดงสิทธิครอบครองทำประโยชน์ชั่วคราวไม่ใช่กรรมสิทธิ์
- น.ส.3 หนังสือแสดงสิทธิครอบครองทำประโยชน์ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ทำนิติกรรมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
- โฉนดที่ดินหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สามารถถูกครอบครองปรปักษ์ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย
- สปก.4-01 หนังสือสิทธิครอบครองทำประโยชน์ทำนิติกรรมไม่ได้แต่ตกทอดทางมรดกได้
- สกก. หรือหนังสือสิทธิเก็บกินตกทอดทางมรดกได้ทำนิติกรรมไม่ได้ ขาดการใช้ 2 ปีราชการยึดคืน
- ภ.ท.บ.5 เอกสารทางภาษีตกทอดทางมรดกและสิทธินี้จะหมดสิ้นไปเมื่อทับซ้อนพื้นที่ต้องห้าม
อัตราภาษีที่ต้องเสียตามความหมายของกฎหมายใหม่ 2564
พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ฉบับแก้เพิ่มล่าสุดและมีผลบังคับใช้ในปีภาษี พ.ศ.2564 กำหนดให้ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้เสียภาษีประกอบไปด้วย
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเกษตรกรรม
ที่ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรมไม่ว่าผู้เป็นเจ้าของจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ให้คิดคำนวณจากราคาประเมินของที่ดินซึ่งถือครองหากมีมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาทกำหนดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.01% และสูงสุดที่จนถึงมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเสียอัตราภาษี 0.10% ทั้งนี้ในกรณีที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและมีมูลค่าราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาทโดยที่ดินนั้นได้ทำการเกษตรในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัยหลังหลัก
“ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ของบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน การคิดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะแบ่งออกตามราคาประเมินเริ่มต้นที่ 0.03% สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 25 ล้านบาท ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 25-50 ล้านบาทคิดอัตราภาษี 0.05% และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาทคิดอัตราภาษี 0.10%
ส่วนที่สองคือเฉพาะ “ที่ดิน” ของบุคคลธรรมดาจะคิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.02% เมื่อมูลค่ารวมกันไม่เกิน 40 ล้านบาทและคิดอัตราภาษีสูงสุด 0.10% เมื่อมูลค่าเกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงที่ดินมีมูลค่ารวมกันไม่เกินที่กฎหมายกำหนดและเข้าข้อยกเว้น ผู้ครอบครองเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่ต้องเสียภาษี
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์
ที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประเภทหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ เจ้าของจะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% เมื่อมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทและสูงสุดที่ 0.7% สำหรับทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ทุก ๆ 3 ปีหากยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเช่นเดิม อัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีก 0.3% และสูงสุดไม่เกิน 3%
ภาษีใหม่สร้างความเป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม
ระบบการจ่ายภาษีใหม่สร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้นกว่าเดิมและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำเอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด การปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ก็ต้องเสียภาษีเช่นกันและเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี การถือครองเพียงอย่างเดียวแต่ไม่กลับนำไปใช้ประโยชน์ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะของระบบเศรษฐกิจมหภาคมากกว่านั่นเอง